Priceza เว็บไซต์เปรียบเทียบราคาสินค้าสำหรับผู้ชอบซื้อสินค้าจากร้านค้าออนไลน์ ได้ขยายตลาดสู่อินโดนีเซีย โดยมีรายละเอียดต่างๆดังนี้
เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซทั่วไป จะเห็นเพียงแค่คำว่า ‘การันตีถูกสุด’ โดยผู้บริโภคไม่สามารถมั่นใจได้ว่าโปรโมชั่นดีจริงๆ หรือแค่คำชวนเชื่อ เป็นสาเหตุให้ Priceza.com มุ่งสร้างช่องทางเปรียบเทียบราคาสินค้า ที่ทำให้ร้านค้าตั้งราคาและนำเสนอโปรโมชั่นที่เหมาะสมแก่ผู้บริโภค จนวันนี้เว็บไซต์เปรียบเทียบราคาที่เกิดจากฝีมือคนไทยสามารถไปเติบโตในต่างประเทศอย่างอินโดนีเซีย และยังเล็งมาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์
ก่อนจะมาเป็น Priceza
ก่อนจะมาเป็นเว็บไซต์ Priceza ในปัจจุบัน ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด เว็บไซต์เปรียบเทียบราคา เล่าว่า ตนกับเพื่อนอีก 2 คน ได้แก่ วิโรจน์ สุภาดุลย์ และวัชระ นิวาตพันธุ์ ทุกคนเรียนจบมาด้วยกันจากคณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งสามคนเล็งเห็นว่า ประเทศไทยน่าจะมีศูนย์รวมร้านค้าต่างๆทุกร้านเหล่านี้โดยไม่แบ่งแยกค่าย เป็นศูนย์รวมให้ผู้ซื้อสามารถเข้าไปค้นหาสินค้า เช็คราคา และเลือกซื้อสินค้า จึงพัฒนาเว็บไซต์ Shopsanova.com ขึ้นในปี 2548 และเปิดตัวในปี 2550 แต่ไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจ
ต่อมา ธนาวัฒน์ ตัดสินใจเรียนต่อทางด้านการตลาด MIM ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้เขาได้เรียนรู้ถึงมุมมองธุรกิจว่า การทำธุรกิจไม่ใช่แค่มีฟีเจอร์เยอะแล้วจะดี แต่ฟีเจอร์เหล่านั้นต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคด้วย ทั้งสามร่วมกันศึกษาและพัฒนาระบบร่วมกันใหม่ตั้งแต่ต้นในโดยคำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภคและประโยชน์จากการใช้งานเป็นหลัก พร้อมเปิดตัว Priceza.com ในเดือนมกราคม 2553
หลังจากเปิดตัวใหม่ มีผู้ใช้งานมากกว่าเดิมหลายเท่าตัวทำให้บริษัทเติบโตแบบก้าวกระโดด สามารถสร้างรายได้จนคืนทุนทั้งหมดตั้งแต่เปิดเว็บฯ Shopsanova ได้ในเวลาเพียงปีเดียว อาจเป็นเพราะอีคอมเมิร์ซในเมืองไทยกำลังเติบโตขึ้น บริษัทสามารถดึงแบรนด์ใหญ่ที่เป็นคู่แข่งกันมาเปรียบเทียบราคาได้ เว็บฯของบริษัทจึงกลายเป็นสื่อที่ช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อง่ายกว่าเดิม ช้อปปิ้งออนไลน์ ง่ายต่อการตัดสินใจซื้อ
ธุรกิจของไพรซ์ซ่ายังคงความคิดเดิมคือ นี้ต้องสร้างประโยชน์ให้กับผู้ใช้และร้านค้าได้ ลูกค้าจะสามารถทำการเปรียบเทียบสินค้าจากหลายร้านค้าและผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างการตัดสินใจที่ดีที่สุด ส่วนร้านค้าก็จะสามารถขายได้มากขึ้น ซึ่งช่วยประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย เพราะเมื่อลูกค้าตัดสินใจซื้อ เขาจะคลิกไปที่สินค้า หลังจากนั้นลูกค้าจะถูกโยงไปที่เว็บไซต์ของร้านค้าที่เลือกเพื่อทำการซื้อขาย
ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าที่ต้องการได้ในราคาประหยัดที่สุด เนื่องจากปัจจุบันบนเว็บฯมีสินค้ามากกว่า 1,600,000 รายการ มี 5,000 ร้านค้า แบ่งเป็นร้านค้าย่อย SMEs 95 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 5 เปอร์เซ็นต์เป็นร้านค้ารายใหญ่ (อาทิ Central Online, The MALL (MglobeMall), 7-11 (ShopAt7), iTrueMart, HomePro (DirecttoShop), TheOutlet24, Zalora, GoodChoiz (พันธวณิช), Rakuten TARAD.com และ WeloveShopping.comเป็นต้น) มีผู้เข้าชมเว็บไซต์มากกว่า 11 ล้านเพจวิวต่อเดือน โดยเป็นลูกค้าที่เข้ามาเป็นประจำประมาณ 52 เปอร์เซ็นต์ และเป็นลูกค้าใหม่ถึง 48 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสินค้าที่มีการหาซื้อกันทางออนไลน์มากที่สุด คือ สินค้าประเภท IT และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ มีสัดส่วนถึง 60 เปอร์เซ็นต์ส่วนอีก 40เปอร์เซ็นต์ คือ สินค้าประเภทแฟชั่น เสื้อผ้า เครื่องสำอาง และสินค้าจิปาถะอื่นๆ
มุ่งขยายธุรกิจสู่ตลาดอาเซียน
ช่วงปี 2556 ที่ผ่านมา เป็นปีที่ธุรกิจสตาร์ทอัพไทยเริ่มเป็นที่สนใจของนักลงทุน Pricezaโชคดีที่มีนักลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศสนใจติดต่อเข้ามา จนในที่สุดได้ CyberAgent Ventures จากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาร่วมลงทุนในสัดส่วน 10 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 20 ล้านบาท ผมมีโอกาสได้คุยกับผู้บริหารของ CyberAgent ที่เป็นชาวญี่ปุ่น ผมเห็นความตั้งใจของเขาที่ต้องการเติบโตด้านอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคนี้ อีกทั้งทางนั้นยังมีประสบการณ์ จึงตัดสินใจปิดดีลการลงทุนร่วมกันเพื่อการเติบโตในอนาคต นอกจากนั้น ผมเห็นบริษัทด้านไอทีจากต่างชาติมาเติบโตในประเทศเรามากมาย เช่น กูเกิ้ล เฟซบุ๊ก ผมจึงอยากเห็นธุรกิจของคนไทยรุกไปยังตลาดต่างประเทศบ้าง ธนาวัฒน์ กล่าว
ส่วนเป้าหมายต่อไปของบริษัท คือ ขยายธุรกิจไปอีก 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเลือกประเทศที่กำลังขยายธุรกิจเข้าไปก่อนอยู่ โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาชัดเจน แต่คาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 ปีข้างหน้า และคาดว่าจะมีการระดมทุนเพิ่มอีกประมาณ 60-90 ล้านบาท จากนักลงทุนต่างชาติ หรือบริษัทอี-คอมเมิร์ซที่สามารถเข้ามาช่วยบริษัทต่อยอดธุรกิจออกไปยังภูมิภาค
อินโดนีเซีย ตลาดอีคอมเมิร์ซที่น่าจับตามองในเอเชียอาคเนย์
บริษัทได้นำร่องเข้าไปให้บริการที่ประเทศอินโดนีเซีย ในเดือนพฤษภาคม 2556 โดยให้เหตุผลว่า ตลาดของประเทศอินโดนีเซียมีขนาดใหญ่กว่าไทยถึง 3 เท่า มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตประมาณ 75-90 ล้านรายจากจำนวนประชากรที่มีมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่ประเทศไทยมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเพียง 25-30 ล้านคน อีกทั้งลักษณะของธุรกิจหลักในอินโดนีเซียกับไทยคล้ายกัน ซึ่งก็จะเป็นช่องทางให้ลูกค้าในไทยสามารถขยายตลาดเข้าไปในอินโดนีเซียได้ ปัจจุบันPriceza.co.id มีทีมการจัดการที่สามารถพูดภาษาอินโดนีเซียได้อยู่ในประเทศไทย ล่าสุดบริษัทกำลังจัดตั้งสำนักงานขึ้น คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้และจะมีการว่าจ้างบุคลากรท้องถิ่นในการจัดการบริหารเพิ่ม
โอกาสทางธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียมีโอกาสเติบโตอีกมาก เนื่องจากหลังเปิดบริการมา 1 ปี มียอดปริมาณสินค้า 2 ล้านราย การเทียบเท่ากับประเทศไทยที่เปิดให้บริการมา 5 ปี ถึงแม้ว่ามูลค่าการซื้อขายของตลาดอีคอมเมิร์ซจะยังไม่สูงเท่าประเทศไทย เพราะพฤติกรรมของคนอินโดนีเซียยังไม่คุ้นเคยกับการซื้อของผ่านระบบออนไลน์เท่าไร เห็นได้จากคนไทยมีการใช้บัตรเครดิตชำระค่าสินค้าและบริการสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อินโดนีเซีย 80-90 เปอร์เซ็นต์ยังนิยมใช้การโอนเงิน
ปรับโฉมใหม่รับกระแสพฤติกรรมของผู้บริโภค
พฤติกรรมของผู้บริโภคด้านการซื้อสินค้าออนไลน์เริ่มเปลี่ยนไป คนส่วนใหญ่หันมาจับจ่ายผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสถิติของ Priceza พบว่า ในเดือนสิงหาคม 2557 เป็นครั้งแรกที่จำนวนคนเข้ามา Priceza จากโทรศัพท์มือถือมากกว่าจำนวนคนที่เข้ามาผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ หรือโน๊ตบุ๊ก โดยมีสัดส่วนเป็นโทรศัพท์มือถือ 46 เปอร์เซ็นต์ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ 44 เปอร์เซ็นต์ และแท็บเล็ต 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่สัดส่วนของการใช้งานมือถือยังคงมีเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
หลังจากนี้ สิ่งที่ท้าทายผู้ประกอบการนอกเหนือจากการแข่งขันด้านราคา ยังต้องแข่งกันที่ความน่าเชื่อถือ และบริการต่างๆ เช่น จัดส่งฟรี รับประกันคืนเงินภายใน 30วัน หรือรับประกันสินค้า สามารถส่งคืนสินค้าได้ภายใน 1 ปี เป็นต้น ซึ่งกลยุทธ์ทางด้านการตลาดของ Priceza.com นั้นจะครอบคลุมทั้งการรุกไปยัง End-user และกลุ่มลูกค้าที่เป็นร้านค้า
ดังนั้น บริษัทจึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถรองรับอุปกรณ์ได้หลากหลายประเภท ทั้งเดสก์ท็อป สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ด้วยเทคโนโลยี Responsive Design ระบบ PricezaBot ทำหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลสินค้า และรายละเอียดของสินค้าจากเว็บไซต์ต่างๆ โดยระบบจะทำการอัปเดตรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงของสินค้าโดยอัตโนมัติทุกวัน ส่งรายงานการทำงานอัตโนมัติ และได้เตรียมการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่เพื่อช่วยเปรียบเทียบความพึงพอใจในการซื้อขายของแต่ละร้านค้าในเร็วๆ นี้
อีกหนึ่งฟีเจอร์เด่นที่ถูกเพิ่มเข้ามาคือให้ลูกค้าเข้ามาเขียนรีวิวความพึงพอใจต่อร้านค้า และความถึงพอใจต่อสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคคนอื่นที่เข้ามาเกิดข้อเปรียบเทียบให้ตัดสินใจง่ายขึ้น ผมมองว่า ฟีเจอร์นี้จะก่อให้เกิดคอมมูนิตี้ในการเปรียบเทียบราคาสินค้า เนื่องจากผู้บริโภคสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล ให้ดาวแก่ร้านค้าได้
ในระบบใหม่นี้ จะมีการเปรียบเทียบละเอียดกว่าเดิม โดยแจ้งรายละเอียกของร้านค้าอาทิ รับเก็บเงินปลายทาง จ่ายโดยโดอนเงินได้ จ่ายผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส จ่ายผ่านบัตรเครดิต รวมถึงส่งฟรีแบบมีเงื่อนไขหรือส่งฟรีทุกรายการ ลูกค้าจึงสามารถเลือกสินค้าได้จากข้อเสนอที่หลากหลาย ธุรกิจเว็บไซต์เปรียบเทียบราคาที่สร้างขึ้นด้วยฝีมือคนไทย สร้างเงินหมุนเวียนในการซื้อขายสินค้าได้เดือนละมากกว่า 100 ล้านบาท และทั้งปีมากกว่า 1,200 ล้านบาท จนสามารถขยายออกไปสู่ต่างประเทศได้เต็มภาคภูมิ แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังต้องการบริการที่ช่วยให้พวกเขาตัดสินใจซื้อได้อย่างชาญฉลาดที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทไหน หรืออยู่ที่ไหนก็ตาม ธนาวัฒน์ กล่าวสรุป
ขอบคุณข่าวจาก: ecommerce-magazine.com